ผู้เขียน | ปรีดี พิศภูมิวิถี |
---|
การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 1)
ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นกลุ่มสินค้าท่องเที่ยวที่มีความสำคัญยิ่งในทางสังคมวัฒนธรรม ที่ผ่านมาภาคส่วนจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงดังกล่าว โดยกำหนดรูปแบบและจุดขายกันอย่างชัดเจน การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ยังเป็นกิจกรรมที่ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนารูปแบบให้ได้มาตรฐาน มีการนำเสนอแนวทางใหม่ในการจัดการ เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ท่องเที่ยวโลก บนพื้นฐานเรื่องการอนุรักษ์พร้อมๆ กับพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน
คำจำกัดความที่เกี่ยวข้อง
1.การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Tourism) หมายถึงการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงสถานที่ที่มีความผูกพันทางจิตใจของคนรุ่นหลัง เพื่อชื่นชมและเพลิดเพลินในสถานที่ท่องเที่ยว ได้ความรู้ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดีในท้องถิ่นบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและคุณค่าของสภาพแวดล้อม โดยที่ชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการ
2.นักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
นักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ คือ กลุ่มบุคคลที่มีความสนใจอยากเห็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่ได้รับรู้มา เพื่อชื่นชมและเพลิดเพลินในสถานที่ท่องเที่ยวนั้น มีความรู้มีความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ โบราณคดีและสุนทรียภาพในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานของการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและคุณค่าของสภาพแวดล้อม
3.แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์
แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ (Historical Attraction) หมายถึง แหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศาสนา รวมถึงสถานที่หรืออาคารสิ่งก่อสร้างที่มีอายุเก่าแก่หรือเคยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ ชุมชนโบราณ กำแพงเมือง คูเมือง พิพิธภัณฑ์ วัด ศาสนสถาน และสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางศิลปะและสถาปัตยกรรม ตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทย ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปราสาทหินพิมาย อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อาจจำแนกประเภทได้ดังนี้
⦁ อุทยานประวัติศาสตร์ (Historical Park)
⦁ ซากอารยธรรม แหล่งโบราณคดี เมืองโบราณ (Dead Monuments Archaeological Sites / Old Town)
⦁ พระราชวัง วัง พระตำหนัก ตำหนัก พระที่นั่ง คุ้ม (Place / Residence of royalty)
⦁ ศาสนสถาน (Religious Place)
⦁ ปราสาทหิน ปรางค์ กู่ (Sandstone Sanctuary)
⦁ อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน ศาลวีรชน สุสาน (Monument)
⦁ พิพิธภัณฑ์ทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย (Historical and Cultural Museum)
⦁ ป้อมปราการ กำแพงเมือง ประตูเมือง คูเมือง (Fortress / City Wall / City / Gate / Moat)
⦁ สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม (Other Historical and Cultural Elements)
⦁ สิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม (Architectural Building)
4.รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และโบราณคดีเพื่อชื่นชมและเพลิดเพลินในสถานที่ท่องเที่ยวได้ความรู้ มีความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดีในท้องถิ่นบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกต่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและคุณค่าของสภาพแวดล้อม โดยที่ชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อาจจัดรายการเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์ต่างๆ อาทิ ทัวร์เส้นทางศิลปะขอม ตามรอยพ่อขุนมังราย เที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ ชมซากอารยธรรมโบราณสถานต่างๆ อนุสาวรีย์/อนุสรณ์สถาน สิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อันรวมไปถึงการจัดท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม (Literary Tourism) ที่เป็นการเดินทางเยี่ยมชมสถานที่ที่ปรากฏในตำนาน นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ หรือสถานที่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนสร้างสรรค์นวนิยายขึ้นมา นอกจากนี้อาจรวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของทหาร (Militarism Heritage Tourism) ซึ่งหมายถึงการเดินทางเพื่อเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของทหาร เช่น ค่ายทหารเก่า เขาค้อ ภูหินร่องกล้า หรืออนุสรณ์สถานต่างๆ (www.dasta.or.th)
การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบอย่างมีคุณภาพหากขาดการจัดการที่ดีจะมีผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวนั้นได้ โดยการจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในประเทศไทยที่ผ่านมานั้นมักมุ่งเน้นไปยัง การดำเนินการโดยคำนึงถึงศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว การดำเนินการโดยคำนึงถึงศักยภาพในการรับรองนักท่องเที่ยว การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องมีการจัดการด้านการอนุรักษ์ ด้านการบริหารจัดการการให้ความรู้สร้างจิตสำนึก การเปิดโอกาสและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการกระจายรายได้สู่ชุมชน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วองค์ประกอบสำคัญของการจัดการการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องราวเหล่านี้
⦁ การจัดการทรัพยากร
ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว ได้แก่ โบราณสถาน และโบราณวัตถุต่างๆ ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ขึ้นมาให้ และกลายเป็นสิ่งดึงดูดในนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าไปเยี่ยมชม ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวจึงมีคุณค่าและจำต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ในสถานที่สมบูรณ์ตลอดเวลา ในการจัดการกับทรัพยากรทางประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวนั้นมีแนวทางดังต่อไปนี้
1) มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษา เพื่อมิให้ถูกทำลายหรือมีการลักลอบเข้าไปขุดค้นหาสมบัติที่มีค่า นอกจากนี้อาจจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปทำการดูแลบูรณะให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด
2) ออกกฎหมายคุ้มครองควบคุม เนื่องจากทรัพยากรท่องเที่ยวประเภทนี้เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าของประเทศที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลรักษา จึงต้องออกกฎหมายประกาศให้ทรัพยากรประเภทนี้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป โดยประกาศให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังต้องออกกฎหมายคุ้มครองป้องกันรักษาให้ทรัพยากรท่องเที่ยวประเภทนี้คงอยู่คู่ประเทศนานๆ พร้อมกำหนดบทลงโทษผู้ละเมิดฝ่าฝืน เช่น ออกพระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นต้น
3) การป้องกันการลักลอบทำลาย เนื่องจากทรัพยากรท่องเที่ยวประเภทนี้เป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า จึงต้องป้องกันดูแลรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวเหล่านี้โดยจัดให้มีหน่วยงานพร้อม
4) การจัดหางบประมาณบูรณะซ่อมแซม เนื่องจากการบูรณะซ่อมแซมทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก รัฐบาลควรจัดหางบประมาณให้อย่างเพียงพอในการบูรณะซ่อมแซม บางครั้งอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่ออนุรักษ์หลักฐานและร่องรอยทางประวัติศาสตร์เอาไว้ เช่น อาจจะขอความช่วยเหลือเรื่องงบประมาณบูรณะซ่อมแซมจากองค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นต้น
5) การจัดหาสถานที่เก็บโบราณวัตถุ เนื่องจากโบราณวัตถุเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ง่ายต่อการถูกโจรกรรม จึงต้องหาสถานที่สำหรับเก็บรวบรวมโบราณวัตถุให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย สะดวกต่อการดูแลรักษา และสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้อีกด้วย
6) การดูแลรักษาความสะอาด เนื่องจากการบูรณะซ่อมแซมทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมและทางโบราณคดี ถ้าหากเกิดสกปรกขึ้นในสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นแล้ว ย่อมไม่สามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น จึงต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมภาชนะรองรับขยะมูลฝอยอย่างเพียงพอ และต้องขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวให้ช่วยกันรักษาความสะอาดด้วย
7) การกำหนดผังเมือง เนื่องจากการบูรณะซ่อมแซมทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและโบราณคดีจึงไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างใดๆ มาบดบังความสวยงามของโบราณสถานเหล่านั้น ในการนี้จำต้องกำหนดผังเมืองในทุกจังหวัดที่มีโบราณสถานเพื่อป้องกันมิให้สิ่งปลูกสร้างใดๆ มาบดบังความสวยงามของโบราณสถานที่มีคุณค่า
2.การจัดการความรู้
การจัดการความรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว เป็นกระบวนการสำคัญในการก่อเกิดจิตสำนึกร่วมกัน ในการรักษาทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อมีการจัดการอย่างเป็นระบบ และขยายผลต่อไปในพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยผลตามมาคือ ชุมชนจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย จนกลายเป็นพลังในการสร้างฐานความรู้ หลักสำคัญในการจัดการความรู้ประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว มีดังต่อไปนี้
1) มีการรวบรวมและสร้างเสริมองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ พร้อมนำเสนอสาระอย่างมีสีสันและเป็นวิชาการ
2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรในพื้นที่ ดำเนินการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง
3) มีการวางแผนอย่างรอบด้านและดำเนินการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยมีผลกระทบในเชิงลบต่อวิถีวัฒนธรรมอันดีงานของชาวชุมชนน้อยที่สุด
4) มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์การจัดสรรพื้นที่ในแหล่งโบราณสถานและทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
5) จัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับพื้นที่อย่างสร้างสรรค์
6) จัดสรรและดำเนินการบริหารจัดการต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวในระดับและปริมาณต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
7) มีการจัดเก็บสถิติตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เขามาในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
8) มีระบบการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล อย่างต่อเนื่อง
9) มีการสรุปบทเรียนเพื่อการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
3. การจัดทรัพยากรมนุษย์
การจัดการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้สำหรับเลี้ยงครอบครัวและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน การจัดการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีการจัดการคนโดยจะพึ่งพิงปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1) คุณลักษณะของผู้ประกอบการ จำต้องได้ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น ซึ่งประกอบไปด้วย
ก.รักการท่องเที่ยวและการให้บริการเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเป็นผู้ประกอบการที่รักการท่องเที่ยวจะเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างชัดเจน และสนองตอบกับความต้องการนั้นได้อย่างเต็มใจ
ข.มีความรู้พื้นฐานด้านประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง พร้อมๆ กับความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เช่น ด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความรู้ ภูมิปัญญา และภาษาท้องถิ่น ทั้งรู้ถึงความแตกต่างทางขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น และสามารถสื่อสาร และถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งสภาพของแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลความรู้ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ เพื่อช่วยสร้างสีสันและความสนุกสนานในการนำเที่ยวแต่ละครั้ง
ค.เป็นนักวางแผนที่ดี ทั้งในการเตรียมความพร้อมชุมชน รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ง.มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการสื่อความหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
จ.มีความซื่อสัตย์ และจริงใจในการให้การบริการ
2)บุคลากรผู้ให้บริการ การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้ให้บริการ บุคลากรหรือผู้ให้บริการจึงมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในท้องถิ่น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชนซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างคนในชุมชนร่วมกันทำกิจกรรมหรือให้บริการ หลักสำคัญในเรื่องนี้คือ
ก.ให้ความสำคัญกับการสรรหาและการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นที่จะเข้าร่วมในการจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยต้องชี้แจงให้เข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการบริการนักท่องเที่ยว
ข.ให้ผลตอบแทนหรือกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
ค.สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร หรือหน่วยงานที่จัดการกับการให้บริการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
3)มัคคุเทศก์ท้องถิ่น นับเป็นบุคลากรกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการให้บริการการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เพราะมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนั้นเป็นผู้ให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์เที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งบริการอำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทางให้แก่ลูกค้าได้อย่างดีเนื่องจากเข้าใจและรู้จักพื้นที่ของตนเองอย่างดี ลูกค้าจะประทับใจบริษัทหรือมีประสบการณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวครั้งนั้นหรือไม่ ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับมัคคุเทศก์ การคัดเลือกและฝึกอบรมผู้ที่จะเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการนำเที่ยวท้องถิ่นต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
4) ปัจจัยด้านการตลาด ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อีกปัจจัยหนึ่ง คือด้านการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการของนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ
ก.กำหนดกิจกรรมท่องเที่ยวที่ชัดเจน (Focus on activities) เช่น เดินชมเมือง การอนุรักษ์โบราณสถาน ย้อนรอยประวัติศาสตร์ เป็นต้น
ข.กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน (Target on specific group of clients) เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นนักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดี ฯลฯ
ค.กำหนด สถานภาพด้านการตลาดที่ชัดเจน (Market positioning) หมายถึง การกำหนดลักษณะการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก และราคา ให้ตรงกับความสามารถในการจ่ายของกลุ่มเป้าหมาย
จ.กำหนดวิธีการและเครื่องมือสื่อสารการตลาดที่เหมาะสม (Integrated Marketing Communication) เช่น การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ การเสนอเป็นบทความหรือสารคดีการท่องเที่ยว การทำเว็บไซต์ (website) การเชิญตัวแทนสื่อมวลชนรวมทั้งบริษัทนำเที่ยวเข้ามาทดลองกิจกรรมการท่องเที่ยว การแนะนำและทดลองเส้นทางนำเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่จัดขึ้น เป็นต้น (www.dasta.or.th)
5) ดัชนีวัดความสำเร็จของการจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัตถุประสงค์ของการจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ คือ
ก.ด้านความรู้ เป็นการปลุกจิตสำนึกและสืบทอดความรู้ทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่
ข.ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการรักษาทรัพยากรทางประวัติศาสตร์ และอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว
ค.ด้านเศรษฐกิจ เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น ให้พอกิน พออยู่
ง.ด้านสังคมวัฒนธรรม เป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น (www.dasta.or.th)
การจัดรูปแบบท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
1.แนวคิดในการจัดรูปแบบท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
การจัดรูปแบบท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นั้นจะมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายขึ้นอยู่กับทักษะ ประสบการณ์ และเทคนิคของมัคคุเทศก์ แต่โดยรวมก็คือจะต้องวางแผนบนพื้นฐานของวิชาการทางประวัติศาสตร์ทั้งในแง่สาระ วิธีการและการนำเสนอ ยกตัวอย่าง การจัดรูปเส้นทางการท่องเที่ยวโดยการจัดลำดับแหล่งท่องเที่ยวตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของแต่ละยุคสมัย เช่น ตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตามลำดับในการแบ่งยุคสมัยตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว มัคคุเทศก์สามารถนำมาเป็นแนวทางการจัดเส้นทางท่องเที่ยวได้ อาทิ กรณีบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์จะจัดรายการท่องเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์ไทยในเชิงวิชาการ ก็ควรจัดโปรแกรมตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะการวางแผนเส้นทางการท่องเที่ยว ที่ควรเริ่มต้นจากแหล่งท่องเที่ยวในยุคก่อนประวัติศาสตร์มาสู่แหล่งท่องเที่ยวในสมัยต้นประวัติศาสตร์ จากนั้นก็เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ตามลำดับ การจัดรายการท่องเที่ยวตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จะทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางตามการวางแผน มีความรู้และเข้าใจถึงความเป็นมาของดินแดนประเทศไทยได้ลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อตัวของสังคมไทย การวางรากฐานทางอารยธรรมของคนไทย ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ว่ามีจุดเริ่มต้นและคลี่คลายมาเป็นลำดับอย่างไร เป็นต้น (อดิศร ศักดิ์สูง, 2553 : 89)
การที่มัคคุเทศก์ต้องจัดเส้นทางท่องเที่ยวแบบนี้โดยรวมแล้วหากพิจารณาในเชิงวิชาการย่อมหมายความว่า เป็นการเดินทางที่ดีกว่าการเดินทางที่บริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เน้นความสะดวกของเส้นทางท่องเที่ยวให้เป็นตามความต้องการของตน เนื่องจากหลายบริษัทอยากประหยัดค่าใช้จ่ายจึงมักเริ่มต้นการเดินทางจากกรุงเทพมหานครก่อน ต่อจากนั้นจึงเดินทางไปอยุธยาและสุโขทัยตามลำดับ ซึ่งการจัดเส้นทางท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้าใจว่าแหล่งโบราณสถาณต่างๆ ที่พาไปชมว่ามีความเป็นมาตามลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์อย่างไรแล้ว ก็ยังทำให้ผู้นำเที่ยวไม่สามารถอธิบายสถานที่ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้งหรือนำเสนอภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในเชิงวิชาการ เช่น การอธิบายว่ารูปแบบโบราณสถานตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นั้น ทำไมจึงมีทั้งความแตกต่างกัน และทำไมบางแห่งมีทั้งรูปแบบที่เหมือนกัน มีการถ่ายทอดและพัฒนาการรูปแบบอย่างไร กรณีดังกล่าวเช่นหากมัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวเดินทางไปชมโบราณสถาณที่อยุธยาก่อน แล้วจึงเดินทางไปสุโขทัยแม้มัคคุเทศก์จะพยามอธิบายว่า เจดีย์อยุธยารับรูปแบบมาจากเจดีย์ทรงลังกาของสุโขทัยแต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งหากยังไม่เคยเห็นเจดีย์ที่สุโขทัยมาก่อน ดังนั้นการทำความเข้าใจต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และนำมาประยุกต์ก็ย่อมจะทำให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพเป็นที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ต้องการศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ในเชิงวิชาการดังกล่าว
2.แนวทางการจัดรูปแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
ก่อนการวางแผนงานการจัดนำเที่ยวการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จะขอกล่าวถึงรูปแบบของการเดินทางสำหรับการจัดนำเที่ยวซึ่งจะศึกษาได้จากรูปแบบทั่วๆ ของการวางแผนจัดเส้นทางการท่องเที่ยว เช่น ผลงานของฉันทัช วรรณถนอม ที่เสนอรูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวอยู่ 3 รูปแบบ (ดู ฉันทัช วรรณถนอม, 2552 : 89-91) โดยอาจนำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ในการจัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ดังตัวอย่างต่อไปนี้
รูปแบบที่ 1 กรณีเป็นการจัดรายการนำเที่ยวประมาณ 2-4 วัน โดยใช้ระยะทางในการเดินทางน้อย โดยแต่ละวันจะออกเดินทางออกจากที่พักในช่วงเช้า แล้วกลับมาพักที่โรงแรมเดิมในตอนเย็น การเดินทางในรูปแบบนี้จะมีระยะทางจากที่พักไปแหล่งท่องเที่ยวประมาณ 100-150 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และถนนหนทาง การจัดรายการนำเที่ยวรูปแบบนี้มักจัดที่พักในบริเวณที่มีแหล่งท่องเที่ยวรอบที่พักและมักเป็นลักษณะของการเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในรูปแบบการชมเมือง (City Tour) โดยการจัดนำเที่ยวในเมืองส่วนใหญ่มักจะเป็นการนำนักท่องเที่ยวเที่ยวชม วัด พิพิธภัณฑ์ อนุสาวรีย์ เมืองโบราณ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นต้น ในการนำเที่ยวสิ่งแรกที่มัคคุเทศก์ต้องแจ้งให้นักท่องเที่ยวทราบคือ การแต่งกายที่เหมาะสม การปฏิบัติตัว ไม่ปีนป่ายกำแพงหรือพระพุทธรูป การใช้ถ้อยคำพูดคุยกันควรสุภาพเรียบร้อย และหลังจากนั้นมัคคุเทศก์จะต้องอธิบายถึงประวัติความเป็นมา เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นมาของสถานที่ และความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวนั้นให้กับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญเทคนิคการนำเที่ยวควรเน้นความเพลิดเพลินสนุกสนานปะปนไปกับการให้ความรู้ เพราะหากมัคคุเทศก์ไม่มีเทคนิคในการนำเที่ยวโดยเฉพาะกิจกรรมเสริมต่างๆ ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเบื่อหน่ายได้ มัคคุเทศก์ที่ดีจึงควรหากิจกรรมมาเสริมสลับกับการให้ความรู้ เช่น การอธิบายโดยปั่นจักรยานชมสถานที่ต่างๆ กิจกรรมการล่องเรือหากแหล่งท่องเที่ยวนั้นอยู่ติดกับคูคลอง หรือกิจกรรมการถ่ายรูปกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์สวยงาม
ที่สำคัญมัคคุเทศก์ต้องมีความสามารถในการใช้คำศัพท์เทคนิคต่างๆ เพื่ออธิบายองค์ประกอบต่างของสถานที่ท่องเที่ยว เช่น วัง วัด ปราสาท เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าใจได้โดยง่ายทั้งมีเทคนิคในการจำศัพท์ต่างๆ เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวที่จะใช้อธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจและพึงพอใจในการเดินทางดังตัวอย่างจากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้)
ปรีดี พิศภูมิวิถี
September 13, 2020 at 10:13AM
https://ift.tt/35xcfNO
การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 1) : โดย ปรีดี พิศภูมิวิถี - มติชน
https://ift.tt/2VxIbuS
Bagikan Berita Ini
0 Response to "การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 1) : โดย ปรีดี พิศภูมิวิถี - มติชน"
Post a Comment