ชั้น 5 ประชาชาติ ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า montien_dear@yahoo.com
ยอมรับว่าในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้หาแนวทางและออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือในโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan และให้ประกันสังคมจ่ายชดเชยรายได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัยและปิดกิจการชั่วคราวในอัตรา 62% เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการรักษาการจ้างงานไว้ต่อไป และเงินชดเชยในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” จำนวน 5,000 บาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
รวมถึงมาตรการ “เที่ยวปันสุข” ภายใต้งบประมาณรวม 22,400 ล้านบาท ที่วางกรอบไว้ 2 รูปแบบ คือ 1.ช่วยเหลือกลุ่มบริษัทนำเที่ยว ผ่านโครงการ “กำลังใจ” ภายใต้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม, ร้านอาหาร, สถานที่ท่องเที่ยว, สายการบิน, รถเช่า ฯลฯ ภายใต้งบฯ 20,000 ล้านบาท
มาตรการที่ออกมานี้ หากมองในมุมของภาครัฐอาจดูเหมือนว่าได้ทำหน้าที่ครบทุกมิติ และได้พยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกเซ็กเตอร์ในระดับหนึ่งแล้ว
ขณะที่เสียงตอบรับจากกลุ่มผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่า มาตรการที่ออกมานั้นยังไม่ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้มากนัก โดยเฉพาะเรื่องซอฟต์โลน และจากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโครงการที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ร่วมกับ ททท. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระหว่างวันที่ 10-25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังพบว่า ร้อยละ 81% บอกว่า ไม่ได้รับประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม เพราะแรงงานส่วนใหญ่ในภาคท่องเที่ยวไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนประจำ
ขณะที่ในธุรกิจโรงแรม ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ก็พบว่ามีเพียงร้อยละ 45 เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม และมีเพียงร้อยละ 10 ที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” และพบว่า ความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 90 ได้รับชัดเจนที่สุด คือ มาตรการลดค่าน้ำและค่าไฟฟ้า
ไม่เพียงเท่านี้ มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายใต้งบฯ 22,400 ล้านบาท ที่ออกมานั้น ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ออกมาช่วยผู้ประกอบการเพียงแค่บางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะโรงแรมที่ดูเหมือนจะได้รับอานิสงส์มากที่สุด ขณะที่ในกลุ่มของบริษัทนำเที่ยวก็ยังลูกผีลูกคน เพราะโครงการพากลุ่ม อสม. และ รพ.สต. เที่ยวในงบฯ 2,000 บาทต่อคนนั้น ดูแล้วก็แทบจะมองไม่เห็น “กำไร” ที่สำคัญ ในกลุ่มดังกล่าวนี้ยังมีบริษัทนำเที่ยวในท้องถิ่นผูกขาดอยู่แล้ว
คำถามมากมายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยจะอยู่รอด และสามารถกลับมาทำธุรกิจต่อได้อย่างไร ?
หรือหากผู้ประกอบการบางส่วนล้มหายไป ซัพพลายด้านการท่องเที่ยวของประเทศจะเป็นอย่างไร รายได้จากอุตฯ ท่องเที่ยวที่เคยได้ 3 ล้านล้านบาทต่อปี จะเป็นแค่ตำนานหรือไม่ ?
ประเด็นที่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็น คือ ที่ผ่านมาซัพพลายด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ทุกเมืองท่องเที่ยวของไทยอยู่ในภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พัทยา, ภูเก็ต, กระบี่, สมุย, หัวหิน, เชียงใหม่ ฯลฯ เพราะผู้ประกอบการในทุก ๆ เซ็กเตอร์ต่างวางแผนลงทุนเพื่อรองรับแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ทุกหน่วยงานต่างพยากรณ์กันว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี
เมื่อโควิดทำให้ทั่วโลกหยุดการเดินทางแถมยังมีแนวโน้มลากยาวเกือบปีเช่นนี้ ทำให้เกิดอาการ “ชอร์ต” ทั้งระบบ รัฐบาลหรือใครที่ว่าเก่งแค่ไหนก็คงเอาไม่อยู่
เพราะอะไร ? ตอบแบบไม่ต้องคิดมาก คือ เป็นเพราะว่าที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวของไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนถึง 70% เมื่อทุกประเทศปิดน่านฟ้า ไม่มีการเดินทางท่องเที่ยว รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลายเป็นศูนย์ทันที
ดีมานด์ที่หายไป 70% นั้น หากบวกกับภาวะที่มีโอเวอร์ซัพพลายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้ซัพพลายที่มีอยู่เกินดีมานด์ในประเทศไม่ต่ำกว่า 70-80%
นั่นหมายความว่า แม้รัฐจะสนับสนุนและกระตุ้นให้ “คนไทย” เที่ยวในประเทศหนักแค่ไหน ตอบเลยว่า… ไม่น่าจะเอาอยู่ ช่วยได้เพียงแค่ประคับประคองระดับหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้น สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ยังเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องพยุงอย่างไร เพื่อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวประคับประคองตัวเดินต่อไปได้อย่างแท้จริง
July 04, 2020 at 04:50PM
https://ift.tt/3fbQZQ1
ท่องเที่ยวไทย พยุงอย่างไร ? ให้อยู่รอด - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/2VxIbuS
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ท่องเที่ยวไทย พยุงอย่างไร ? ให้อยู่รอด - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment