สุรวัช อัครวรมาศ มองเที่ยวไทย
ท่องเที่ยวไทย – ภาพรวมภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ดูไม่สดใสมากนัก หลังจากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวใหญ่ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ หายไปทั้งหมด ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลได้ปิดน่านฟ้า และไม่อนุญาตให้ทำการบินระหว่างประเทศ เป็นการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีวี่แววของการเปิดน่านฟ้าต้อนรับต่างชาติ
นายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และอุปนายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ทิศทางภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมองว่าไม่สดใส และเงียบเหงามากอย่างต่อเนื่อง เพราะการท่องเที่ยวไทยตอนนี้ ยังไม่มีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เข้ามา ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทย ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังมีการเดินทางค่อนข้างน้อย แม้ในระยะหลังๆ จะเริ่มต้นออกเดินทางบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มากเท่าเดิม จึงประเมินทิศทางการขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ยาก
การกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยของภาครัฐ ในส่วนของโครงการเที่ยวปันสุข ทั้ง 2 แพคเกจ ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน และกำลังใจ ประเมินว่าได้ผลอยู่
แต่หากถามว่าได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่นั้น มองว่ายังไม่ได้มีมากนัก เพราะกังวลว่าอานิสงส์เชิงบวกทั้งกับผู้ประกอบการ จะกระจายไม่ทั่วถึง เพราะแม้ในช่วงที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่จะอัดอั้นจากการไม่ได้ออกเที่ยว และต้องหยุดเชื้อ เพื่อชาติ อยู่บ้านเป็นเวลานานๆ แต่เท่าที่สำรวจการเดินทางตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นิยมออกเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดระยะใกล้ๆ ประมาณ 200 กิโลเมตร เพราะเดินทางสะดวก สามารถขับรถไปเองได้ รวมถึงเป็นทริปแบบไปเช้าเย็นกลับ
พฤติกรรมการท่องเที่ยวของตลาดไทยเที่ยวไทย นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น เพราะวันธรรมดาต้องทำงาน ทำให้โครงสร้างการท่องเที่ยวไทย ที่สร้างมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักทั้งร้านอาหาร โรงแรมที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่สามารถทดแทนจากคนไทยได้ เพราะต่างชาติเที่ยวได้ทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะวันหยุดเท่านั้น รวมถึงต้องยอมรับว่าต่างชาติมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงกว่าคนไทยมาก ทั้งการพักผ่อน การกิน และการเดินทางท่องเที่ยว
สำหรับ แพคเกจกำลังใจ ที่สนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 2 วัน 1 คืน โดยจะสนับสนุนให้คนละไม่เกิน 2,000 บาท เบื้องต้นมองว่า ยังไม่ตรงประเด็นใน
การช่วยเหลือผู้ประกอบการมากนัก สะท้อนได้จากผู้ประกอบการในตลาดมีอยู่ 13,000 ราย แต่ล่าสุดลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเพียง 986 รายเท่านั้น จึงเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการไม่สนใจเท่าที่ควร เพราะรัฐกำหนดค่าใช้จ่ายให้เพียง 2,000 บาท และการเข้าถึงกลุ่ม อสม. อสส. และ รพ.สต. ที่ไม่ได้เข้าถึงกระบวนใช้บริการของโครงการได้ง่ายนัก
รวมถึงแพคเกจกำลังใจ ยังดูเหมือนเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่ารายเล็ก เพราะต้นทุนของการแข่งขันแตกต่างกันชัดเจน อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักในช่วงที่ผ่านมา มีบริการครบ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร รถทัวร์ บริการพิเศษต่างๆ จะมีความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่า ทั้งที่ต้นทุนน้อยกว่า หากเทียบกับผู้ประกอบการที่ทำตามพาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ หรือรองรับการเที่ยวในประเทศของไทยเที่ยวไทย ที่ต้นทุนสูงกว่าจนสู้ไม่ได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่รวบรวมกลุ่ม อสม. อสส. และ รพ.สต. มาใช้บริการกับบริษัททัวร์ที่ตกลงกันไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่บริษัทของคนไทย แต่มีขนาดใหญ่กว่า สภาพคล่องมากกว่า และต้นทุนน้อยกว่า จึงได้ประโยชน์จากแพคเกจกำลังใจมากกว่า โดยมองว่าทางแก้ที่ดีที่สุดคือ ต้องจำกัดจำนวนการใช้บริการของ
กลุ่ม อสม. อสส. และ รพ.สต. อาทิ จำกัดให้ใช้ได้รวมไม่เกิน 1,000 คนต่อ 1 บริษัททัวร์ ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายไปใช้บริการในหลายบริษัทได้มากขึ้น
คำถามคือ เงินงบประมาณที่เหลืออยู่ จากทั้ง 2 แพคเกจที่เชื่อว่าเหลือแน่นอนนั้น จะนำไปต่อยอดหรือดำเนินการอย่างไร
โดยแนะนำว่า งบประมาณที่เหลือทั้งหมดให้จัดแคมเปญใหม่ขึ้นมา ในรูปแบบของแพคเกจเดินทางท่องเที่ยวกับทัวร์ แบบสนับสนุนส่วนต่างส่วนลด 40% เท่าแพคเกจเดิม แต่ให้บริษัททัวร์ เป็นผู้จัดทำแพคเกจท่องเที่ยว นำเสนอให้กับประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเที่ยวกับทัวร์ใหม่ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทัวร์ เพราะขณะนี้คนไทยลืมการท่องเที่ยวผ่านทัวร์ไปแล้ว ทั้งที่ความจริงการเที่ยวกับทัวร์ก็ถือว่ามีเสน่ห์ในรูปแบบตัวเองอยู่ รวมถึงการเดินทางเที่ยวเองสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย
ภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลัก ขณะนี้ยังมองไม่เห็นทิศทางว่าจะไปทางใด เพราะตอนแรกประเมินว่า หากสามารถทำการจับคู่เดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน (แทรเวล บับเบิล) ในประเทศที่ปลอดเชื้อโควิด-19 อาทิ เวียดนาม ไต้หวัน จีน สามารถเข้ามาได้ก่อน แต่ประเทศเหล่านี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้น ทำให้การจับคู่เที่ยวระหว่างกันต้องพับไป เพราะไม่มีความมั่นใจในการต้อนรับต่างชาติ จึงมองภาพการเปิดรับต่างชาติเข้าไทยไม่ชัดเจน
หากรัฐอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามา จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง อย่างน้อยในไตรมาส 4/2563 หากสามารถเข้ามาได้ 1,000,000 คน มีการใช้จ่ายคนละ 40,000 บาท เท่ากับจะมีเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท แต่ความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย เพราะไม่แน่ใจว่าในช่วงต่อไป รัฐจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวไทยได้หรือไม่ และสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศจะเป็นอย่างไร หากดูดีขึ้น ก็อาจอนุญาตให้เข้ามาได้เร็วขึ้น โดยมองว่าชาติที่น่าจะให้เข้ามาได้ก่อน คือ จีน ไต้หวัน รัสเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ซึ่งมีความพร้อม และมีบางเมืองที่ไร้การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว
การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามา สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่มีการกักตัวดูอาการ เพราะถือเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจว่า จะเข้ามาหรือไปเที่ยวที่อื่นดี โดยต้องทำความเข้าใจกับประชาชน สร้างความเชื่อมั่น และคลายความกังวล ว่าหากปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาแล้ว จะไม่มีการติดเชื้อใหม่ๆ เกิดขึ้น และจะต้องมีการดูแลควบคุมเชื้อไวรัสให้ดีที่สุด โดยมองว่าควรทำประชาพิจารณ์ ในพื้นที่ที่ต่างชาติต้องไปเที่ยวมากที่สุด อาทิ จังหวัดภูเก็ต ต้องสอบถามว่า จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาหรือไม่ หากผลสำรวจออกมาว่า 95% อนุญาตให้เข้ามา ภาคเอกชนและประชาชนจะต้องร่วมมือกันช่วยดูแล และควบคุมความเสี่ยงด้วย เพราะจะให้รัฐจัดการอยู่ฝ่ายเดียวก็คงไม่เป็นธรรมมากนัก
อีกเรื่องที่มีปัญหาคือ การที่รัฐบาลอนุญาตให้โรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเข้าร่วมโครงการเท่านั้น ต่อมาอนุญาตให้โรงแรมที่เสียภาษีถูกต้องเข้าร่วมโครงการแล้ว แต่ในขั้นตอนยังเข้าร่วมไม่ได้ เพราะต้องรอการทำหนังสืออนุญาตถูกต้องก่อน จึงอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาต แต่เสียภาษีถูกต้องเข้าร่วมโครงการได้ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ภาคเอกชนทั้งหมดได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่ากัน แต่เรื่องการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องของเงื่อนไข ไม่ใช่ปัญหาของการให้บริการได้หรือไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการสามารถให้บริการได้ ขาดแต่ผู้ใช้บริการเท่านั้น รัฐจึงควรเร่งช่วยเหลือตรงนี้ให้เร็วที่สุด
ภาคการท่องเที่ยวในปี 2564 ดูไร้ทิศทางมาก เพราะครึ่งปีหลังยังหาทางออก เพื่อให้เดินหน้าต่อไปไม่ได้เลย จึงมองไม่เห็นแนวทางว่าจะเดินไปอย่างไร แต่หากสามารถค้นพบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ได้ เวลานั้นจึงจะเป็นช่วงที่ทุกอย่างนิ่งขึ้น การวางแผนขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว ถึงจะสามารถมีแนวทางที่ชัดเจน และเดินตามแผนไปต่อได้
August 01, 2020 at 08:21AM
https://ift.tt/3fj6NQ2
สุรวัช อัครวรมาศ มองเที่ยวไทย - มติชน
https://ift.tt/2VxIbuS
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สุรวัช อัครวรมาศ มองเที่ยวไทย - มติชน"
Post a Comment